ฟิล์มบรรจุภัณฑ์ยืดอายุผักและผลไม้ที่พัฒนาด้วยนาโนเทคโนโลยี

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศกสิกรรมสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สังเกตได้จากความหลากหลายและความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธรรมชาติ ที่ใช้ประโยชน์ได้ทั้งเป็นของกินและของใช้ ซึ่งผักและผลไม้สดก็ถือเป็นผลผลิตสำคัญตัวหนึ่งที่เราผลิตได้ นอกจากนี้ยังเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศเสมอมา

อย่างไรก็ดี ภูมิอากาศเขตร้อนของบ้านเราก็ได้สร้างปัญหาให้กับพืชผลเหล่านี้ไม่น้อยเลย เนื่องจากผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้จะมีอายุสั้น เก็บไว้ได้ไม่นาน จึงทำให้มีระยะเวลาขนส่งและวางขายเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น หลายครั้งเราจึงต้องสูญเสียผลผลิตการเกษตรระหว่างการขนส่งเป็นจำนวนมาก ถือเป็นทางตันที่แก้ไขได้ยากที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับอุตสาหกรรมการส่งออกพืชผลทางการเกษตรของไทย

เนื่องมาจากเราไม่สามารถเก็บรักษาหรือยืดอายุผักและผลไม้ของเราให้ได้นานเท่าที่ต้องการได้นั่นเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เราไม่สามารถส่งผลผลิตสดๆ ไปยังประเทศที่อยู่ห่างไกลได้ด้วยเงื่อนไขด้านเวลา ในปี 2542 พวกเธอจึงได้เริ่มพัฒนาฟิล์มบรรจุภัณฑ์ที่สามารถยืดอายุการเก็บรักษาผักและผลไม้สดขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีระดับโมเลกุลหรือระดับนาโนควบคุมโครงสร้างของวัสดุ เพื่อปรับเปลี่ยนคุณสมบัติให้ฟิล์มดังกล่าวมีคุณสมบัติพิเศษกว่าบรรจุภัณฑ์ทั่วไปคือ ยอมให้ก๊าซออกซิเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แพร่ผ่านได้

“ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาเรื่องเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์อย่างเป็นระบบ ไม่มีงานวิจัยใดที่มุ่งเน้นการสร้างเทคโนโลยีวัสดุเพื่อใช้พัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตผลสดเขตร้อนในเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งเมื่อ 20 ปีมานี้ อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารในประเทศก็เริ่มนำฟิล์มพลาสติกมาใช้เป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์บ้างแล้ว แต่ฟิล์มพวกนี้ก็มีข้อจำกัดมาก เพราะสกัดกั้นไม่ให้ก๊าซแพร่ผ่านได้ จึงไม่เหมาะแก่การใช้งาน โดยฟิล์มที่เหมาะสมกับการเก็บรักษาผลผลิตการเกษตรที่เราต้องการจะต้องยอมให้ก๊าซออกซิเจนแพร่ผ่านได้สูง ทำให้มีปริมาณก๊าซในบรรจุภัณฑ์ในปริมาณที่เหมาะสม ชะลอการหายใจ และการคายน้ำของผลผลิตได้ ”

“ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออกผลิตผลเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงเช่น ผักผลไม้ตามฤดูกาล รวมทั้งดอกไม้สด จึงจำเป็นต้องนำเข้าฟิล์มที่ให้ออกซิเจนเข้าออกได้สูงมาจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพงกว่าฟิล์มทั่วๆ ไป 10-20 เท่า อีกทั้งยังเป็นฟิล์มที่เหมาะกับพืชเมืองหนาวโดยเฉพาะ จึงไม่เหมาะสำหรับผลผลิตในเขตร้อน เราจึงเสียเปรียบในเชิงการแข่งขันมาก”

“ฟิล์มที่เหมาะสมกับการยืดอายุผลผลิตจะต้องมีคุณสมบัติสามารถดัดแปลงสภาพบรรยากาศภายในบรรจุภัณฑ์ให้เป็นสภาวะสมดุล (Equilibrium Modified Atmosphere /EMA) ซึ่งเป็นหลักการหนึ่งในกลุ่มเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์แบบแอคทีฟ ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเทคโนโลยีการรักษาความสดและถนอมอาหารแห่งศตวรรษที่ 21 มีผลต่อการชะลอการหายใจ การคายน้ำ และการเสื่อมสภาพของผลผลิต สามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้นานกว่าเดิม 2-5 เท่า โดยรสชาติ กลิ่น และคุณค่าทางโภชนาการไม่เปลี่ยนแปลง”