เทคโนโลยีในการยืดอายุการเก็บรักษาผักและผลไม้ให้อยู่ได้นาน


ผักและผลไม้ เป็นผลิตผลทางการเกษตรที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยอาศัยกรรมวิธีการผลิตที่หลากหลาย มีทั้งการนำไปผ่านกระบวนการแปรรูปเพียงเล็กน้อย หรือเพียงแค่ล้างทำความสะอาด และตัดแต่งเพื่อจำหน่ายแบบสด หรือนำไปผ่านกระบวนการแปรรูปโดยใช้ความร้อนสูง แล้วบรรจุในภาชนะเปิดสนิท เช่น กระป๋อง ขวดแก้ว และภาชนะพลาสติก

ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผักและผลไม้นั้น ส่วนใหญ่จะใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพที่ใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกัน แต่เมื่อนำมาผ่านการแปรรูปโดยอาศัยกรรมวิธีที่แตกต่างกันแล้ว จะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย และแตกต่างกันทั้งในด้านกลิ่น รส สี และลักษณะเนื้อสัมผัส อาทิเช่น หน่อไม้ฝรั่ง ถั่ว ลูกพีช ซึ่งเป็นผัก ผลไม้ ชนิดที่รับประทานได้ทั้งแบบสด ๆ และแบบที่ผ่านการแปรรูป จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 แบบนี้ มีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่ผู้บริโภคก็ให้การยอมรับทั้ง 2 รูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริโภคนิยมบริโภคในรูปแบบใด เช่น ผู้บริโภคบางกลุ่มอาจนิยมบริโภคถั่วสด จะเลือกซื้อสินค้าถั่วสดแช่แข็ง ในขณะที่ผู้บริโภคบางกลุ่มนิยมบริโภคถั่วบรรจุกระป๋อง ก็จะเลือกซื้อเฉพาะสินค้าถั่วบรรจุกระป๋อง เป็นต้น ดังนั้นสินค้าผัก ผลไม้แปรรูปแต่ละประเภทจะมีตลาดรองรับที่แยกจากกันอย่างชัดเจน

การแปรรูปอาหารนั้นเป้าหมายหลักของผู้ประกอบการก็คือ การพัฒนากระบวนการผลิตที่ยังคงความสะดวก ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน แต่มีต้นทุนการผลิตต่ำ และมีการปรับปรุงคุณภาพของสินค้าให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันทางเลือกหนึ่งของการผลิต และบรรจุสินค้าผัก ผลไม้สด ก็คือการใช้สารเคมีถนอมรักษา หรือช่วยชลอการสุก รวมทั้งช่วยคงคุณภาพของผัก ผลไม้สดหลังการเก็บเกี่ยวด้วย โดยการให้สารเคมีเข้าไปรบกวนการทำงานของเอทธิลีนซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นกระบวนการที่ทำให้เกิดการสุกในพืช ในอดีตสารเอทธิลีนถูกนำไปใช้กับสินค้ากล้วย เพื่อทำให้สามารถจำหน่ายกล้วยในขณะที่มีกลิ่นรส และสุกงอมกำลังดี โดยเกษตรกรจำเก็บเกี่ยวกล้วย และทำการขนส่งไปยังปลายทางในขณะที่ผลกล้วยมีสีเขียว หรือยังไม่สุก เพื่อความสะดวกในการขนส่ง หลังจากนั้นจะนำกล้วยไปเก็บในห้องที่มีเอทธิลีนอยู่ เมื่อเอทธิลีนระเหยออกสู่บรรยากาศสัมผัสกับผลกล้วยดิบมันก็จะไปกระตุ้นให้กล้วยเกิดกระบวนการสุกในช่วงเวลาที่เหมาะสม พร้อมที่จะจำหน่าย

ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนในด้านข้อมูลว่าในขณะเก็บรักษา ผัก และผลไม้ไว้เป็นระยะเวลานาน ๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านกลิ่น รสชาติ ของผัก และผลไม้แต่ละชนิดอย่างไร เช่นเดียวกันกับที่จะต้องมีการพิจารณาและศึกษาถึงประโยชน์ของการประยุกต์ใช้สาร MCP ในพืชอาหารแต่ละชนิดต่อไป